วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บุญ คำสั้นๆที่มีความหมายเกินจะพรรณนา

บุญ...คืออะไร???  อยู่ที่ไหน???

"บุญ"  คือพลังงานอย่างหนึ่ง  ซึ่งละเอียด  ประณีตและทรงพลังอย่างยิ่ง
เป็นเครื่องชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาด  บริสุทธิ์  ผ่องใส  ห่างไกลจากกิเลสและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง

น่าเสียดายที่คนทั่วไปมองไม่เห็นบุญ  จนบางคนไม่เชื่อว่า  "บุญมีจริง"  และ  "บาปก็มีจริง"
แม้ว่าเราจะยังมองไม่เห็นบุญ  แต่เวลาที่เราทำบุญนั้นเราสามารถรับรู้ได้ถึงกระแสบุญ  ที่หลั่งไหลมาสู่ตัวเรา  เช่น  เวลาที่เราทำทาน  รักษาศีล  หรือเจริญภาวนา  "บุญจะหลั่งไหลมาสู่ใจเรา"  ทำให้เรารู้สึกสบายใจ  จิตใจผ่องใส  ซึ่งอาการความรู้สึกเหล่านี้ คืออาการของบุญ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐  คือทางมาแห่งบุญ ๑๐ ประการ
  1. ทานมัย  คือบุญที่เกิดจากการทำทาน
  2. ศีลมัย  คือบุญที่เกิดจากการรักษาศีล
  3. ภาวนามัย  คือบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา
  4. อปจายนมัย  คือบุญที่เกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตน
  5. เวยยาวัจจมัย  คือบุญที่เกิดจากการช่วยเหลือการงานที่ถูกที่ควร
  6. ปัตติทานมัย  คือบุญที่เกิดจากอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น
  7. ปัตตานุโมทนามัย  คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนา
  8. ธัมมัสสวนมัย  คือบุญที่เกิดจากการฟังธรรม
  9. ธัมมเทสนามัย  คือบุญที่เกิดจากการแสดงธรรม
  10. ทิฏฐชุกัมม์  คือบุญที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรงตามความเป็นจริง
 
มีบุญ...สำเร็จทุกอย่าง
 
"บุญ"  มีอาณุภาพมากสามารถดึงดูดสมบัติทั้ง ๓ คือ  "รูปสมบัติ  ทรัพย์สมบัติ  คุณสมบัติ"  ให้เกิดกับเราได้  เพราะอานุภาพแห่งบุญนั้นยิ่งใหญ่สุดประมาณ
 
ช่วงไหนเรามีบุญมาก  และบุญกำลังส่งผล  สมบัติต่างๆก็จะไหลมาเทมาหาเรา
เมื่อไหร่ที่เรามีบุญน้อย  หรือหมดบุญ  สมบัติที่มีอยู่ก็จะค่อยๆลดน้อยลงไปนั่นเอง
 
บุญ...เปรียบเสมือนน้ำในคลอง
บาป...เปรียบเสมือนตอที่อยู่ใต้น้ำ
ชีวิต  เปรียบเสมือนเรือที่แล่นไปในน้ำ  ถ้ามีบุญมากเหมือนน้ำในคลองมาก  บาปที่เปรียบเสมือนตออยู่ใต้น้ำก็ทำอะไรเราไม่ได้  เรือก็แล่นไปได้อย่างสะดวกเหมือนชีวิตที่ราบรื่นก้าวหน้า
ถ้าบุญน้อยก็เหมือนน้ำน้อย  ตอก็ผุด  เรือก็ติดตอ  จะประกอบการงานใดก็ติดขัดไปหมดนั่นเอง
 
บุญ ๓ ประการที่จะนำพาไปสู่การสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่นั้นก็คือ...
  • การทำทาน
  • รักษาศีล
  • การเจริญภาวนา
ซึ่งจะขอกล่าวต่อไปทีละหัวข้อโดยละเอียด  เริ่มจาก "การทำทาน"  ในบทถัดไปนะคะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น